หลักเกณฑ์ของการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย


เรียน ท่านสมาชิกชมรมยิงปืนทุกท่าน

บทความนี้อาจพอช่วยบอกท่านได้ว่า เมื่อใด เราจะสามารถป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของท่านได้โดยชอบด้วยกฎหมาย  สรุปง่าย ๆ คือฆ่าคนตายโดยไม่มีความผิดตามกฎหมายครับ

หลักเกณฑ์ของการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย  ( มี ๔ ข้อ ) คือ

๑ .มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย
๒. เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง
๓. ผู้กระทำจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่น ให้พ้นภยันตรายนั้น
๔. ต้องเป็นการกระทำป้องกันสิทธิที่ไม่เกินขอบเขต


๑ .  มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย

เช่น  มีคนมาปล้น  มาจะฆ่า  จะทำร้าย  เป็นต้น
ระวัง  หากเขามีสิทธิทำร้ายเราได้  เช่นพ่อมีสิทธิว่ากล่าว / ตีลูก   เมื่อเราทำผิดบิดามารดา
ลงโทษเรา /ตีเรา  ไม่ถือเป็นภยันตรายตามข้อ ๑ นี้  เราตอบโต้แล้วอ้างป้องกันไม่ได้
  มีฎีกา ที่ ๔๒๙/๒๕๐๕ ว่าพระตีลูกศิษย์   ลูกศิษย์ตอบโต้  ฆ่าพระ  ไม่เป็นป้องกัน

         กรณีเห็นเมียกำลังนอนกอดกับชายชู้  ถือเป็นภยันตรายที่มาละเมิดตามข้อ ๑ แล้ว
แต่ก็แยกว่า    ถ้าภริยาจดทะเบียนสมรสกับเรา   เราฆ่าชู้  เป็นป้องกัน ( ฏีกาที่๓๗๘/๒๔๗๙ )
แต่ถ้าไม่ได้จดทะเบียน  ไม่เป็นป้องกัน  แต่อ้างบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๗๒  เพื่อให้ศาลลงโทษน้อยลงได้ ( ฎีกาที่ ๒๔๙/๒๕๑๕ )

       แม้จะมีภยันตรายตามข้อ ๑ แล้วก็ตาม  แต่ผู้ที่จะอ้างป้องกันได้
จะต้องไม่มีส่วนผิดในการก่อให้เกิดภยันตรายดังกล่าวขึ้นด้วย  คือ
 
-   ไม่เป็นผู้ที่ก่อภัยขึ้นในตอนแรก
เช่น ฎีกาที่ ๒๕๑๔/ ๒๕๑๙  จำเลยชกต่อยก่อน แล้ววิ่งหนี    เขาไล่ตามต่อเนื่อง
ไม่ขาดตอน  จำเลยยิงเขาตาย   อ้างป้องกันไม่ได้
-    ไม่เป็นผู้ที่สมัครใจเข้าวิวาทกัน
เช่นฎีกาที่ ๒๓๒๒/๒๕๒๒  จำเลยโต้เถียงกันคนตาย   แล้วก็ท้าทายกัน
สมัครใจเข้าชกต่อยต่อสู้กัน   แม้คนตายจะยิงก่อน   แล้วจำเลยยิงสวน
ก็อ้างป้องกันไม่ได้
-    ไม่เป็นผู้ที่ยินยอมให้ผู้อืนกระทำต่อตนโดยสมัครใจ
เช่น ให้เขาลองของคุณไสย์  คงกระพัน  แล้วจะไปโกรธตอบโต้ภายหลัง
อ้างป้องกันไม่ได้
-    ไม่เป็นผู้ที่ไปยั่วให้คนอื่นเขาโกรธก่อน
เช่นไปร้องด่าพ่อแม่  ด่าหยาบคายกับเขาก่อน  พอเขาโกรธมาทำร้ายเรา
เราก็ตอบโต้  เราอ้างป้องกันไม่ได้


๒.  เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง


เช่น เขากำลังจะยิงเรา  เราจึงต้องยิงสวน
ฎีกาที่ ๒๒๘๕ / ๒๕๒๘  จำเลยกับคนตายคุยตกลงกันเรื่องแบ่งวัว  จำเลยชวน
ให้ไปคุยตกลงกันที่บ้านกำนัน   คนตายไม่ยอมไป   กลับชักปืนออกมาจากเอว
จำเลยย่อมเข้าใจว่าจะยิงตน   จึงยิงสวน   ๑ นัด  เป็นป้องกัน
ฎีกาที่ ๑๗๓๒ /๒๕๐๙  คนตายชักมีดพกจากเอวมาถือไว้ แล้วเดินเข้ามาหาจำเลย
ระยะกระชั้นชิด  จำเลยยิงสวน ๑ ที   คนตายยังเดินต่อเข้ามาอีก  จึงยิงสวน อีก ๑ ที
ล้มลงตาย  เป็นป้องกันสมควรแก่เหตุ
ฎีกาที่  ๑๗๔๑/ ๒๕๐๙  คนตายจับมือถือแขนคู่หมั้นจำเลย   พอจำเลยมาเห็น
คนตายก้มหยิบมีดพร้าที่วางใกล้ๆ  ยาว ๑๒ นิ้ว   ด้ามยาวอีก ๑๒ นิ้ว
แสดงว่าคนตายจะทำร้ายทันทีเมื่อหยิบมีดได้   จำเลยใช้มีดฟันตนตายไป ๑ ที
ป้องกันพอแก่เหตุ
ฎีกาที่๑๖๙ / ๒๕๐๔ คนตายเมาสุราร้องท้าทายจำเลยให้มาต่อสู้กัน
จำเลยไม่สู้  คนตายถือมีดดาบปลายแหลมลุยน้ำข้ามคลอง จะเข้าไปฟันจำเลย
ถึงในบ้าน  จำเลยไม่หนีเพราะบ้านตัวเอง  และใช้ปืนยิงสวนไป ๑ นัด
ขณะที่คนตายอยู่ห่าง ๖ ศอกถึง ๒ วา   เป็นป้องกันพอสมควรแก่เหตุ

 -ฎีกานี้วางหลักว่า ผู้รับภัยไม่จำเป็นต้องหลบหนีภยันตราย  ก็อ้างป้องกันได้

๓. ผู้กระทำจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่น ให้พ้นภยันตรายนั้น
 ข้อนี้ตามที่อธิบายข้างต้นไปแล้ว


๔. ต้องเป็นการกระทำป้องกันสิทธิที่ไม่เกินขอบเขต

ไม่งั้นจะเป็นการป้องกันที่เกินสมควรกว่าเหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งการ
จำต้องกระทำเพื่อป้องกัน  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๙ ไป
ซึ่งจะทำให้ยังมีความผิดอยู่


แบบไหนไม่เกินกว่าเหตุ  ยากมากครับ  ต้องแล้วแต่พฤติการณ์แห่งคดีที่เกิดขึ้น

ฎีกาที่ ๘๒๒ / ๒๕๑๐ คนตายเป็นฝ่ายก่อเหตุก่อน จะเข้ามาชกต่อยทำร้ายจำเลย
จำเลยจึงเอาปืนยิงลงพื้นดินไป ๑ นัด เพื่อขู่ให้คนตายกลัว  แต่คนตายไม่หยุด
กลับเข้ามากอดปล้ำใช้แขนรัดคอแล้วแย่งปืนจำเลย  จำเลยจึงยิงขณะชุลมุนนั้น
ไป ๑ นัด  ตาย  เป็นป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ  ไม่มีความผิด

ฎีกาที่ ๙๔๓ /๒๕๐๘  คนร้ายจูงกระบือออกจากใต้ถุนบ้านแล้ว มีปืนลูกซองมาด้วย
จำเลยร้องถามแล้ว คนร้ายหันปืนมาทางจำเลย   จำเลยยิงสวนทันที
ศาลฎีกาบอกว่า   คนร้ายหันปืนมาแล้ว  อาจยิงได้  และถ้าจำเลยไม่ยิง คนร้ายก็อาจเอา
กระบือไปได้  เป็นป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ

ฎีกาที่ ๑๒๕๖ /๒๕๓๐   คนตายบุกรุกเข้าไปฉุดลูกสาวในบ้านจำเลย
เมื่อมารดาเด็กเข้าห้ามถูกคนร้ายตบหน้า  แล้วจะฉุดพาลูกสาวออกบ้าน
จำเลยยิงไปทันที ๔ นัด  เป็นป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ

ฎีกาที่  ๖๐๖ / ๒๕๑๐ คนตายเข้ามาชกจำเลย  จำเลยล้มลง  คนตายเงื้อมีด
จะเข้าไปแทง  จำเลยยิงสวน  เป็นป้องกันพอสมควรแก่เหตุ
 
         เทียบกับ

ฎีกาที่ ๒๗๑๗/ ๒๕๒๘  คนตายยืนถือมีดอยู่ห่าง ๒ วา  ยังไม่อยู่ในลักษณะพร้อมที่
จะฟันทำร้ายจำเลย  การที่จำเลยด่วนยิงคนตายไปก่อน
เป็นป้องกันจริง  แต่เกินสมควรแก่เหตุ

ฎีกาที่  ๔๕๔๔ / ๒๕๓๑  คนตายบุรุกเข้าไปในบ้านจำเลยยามวิกาล
เมื่อจำเลยได้ยินเสียงผิดปกติ  คว้าปืนลงมาดู   คนตายยิงทันที
จำเลยยิงสวน  เป็นป้องกันพอสมควรแก่เหตุ

ฎีกาที่  ๑๘๒ / ๒๕๓๒  ก.ถือไม้ไปที่บ้านจำเลย   ร้องท้าทายให้จำเลยมาสู้กัน
ก.เดินเข้าหาจำเลย  จำเลยตกใจกลัวว่า ก. จะเข้ามาเอาไม้ตีทำร้าย  จึงวิ่งไปเอาปืน
แล้วเล็งยิงไปที่ขา ก. รวม ๓ นัด  เมื่อรู้ว่ากระสุนถูกที่ขา ก. จำนวน ๑ นัด
จำเลยก็ไม่ยิงซ้ำ  เป็นป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ


 คราวนี้มาดูกรณีที่ถือว่าเกินสมควรกว่าเหตุ

ฎีกาที่  ๒๙๘๓ / ๒๕๓๑   คนตายขับมอเตอร์ไซด์กลับบ้าน  พบจำเลยระหว่างทาง
จำเลยพูดทวงหนี้คนตาย  คนตายโกรธเคืองต่อว่าจำเลย  พร้อมเดินเข้าไปหาจำเลย
ด้วยมือเปล่าเพื่อจะทำร้าย   ระยะห่างประมาณ ๑ วา  จำเลยใช้ปืนยิง ๑ นัด
เป็นป้องกันตัวจากการจะถูกทำร้าย  แต่เกินกว่าเหตุเพราะคนตายมือเปล่า

ฎีกาที่  ๖๔ / ๒๕๑๕  ก.และ ข.มือเปล่าไม่มีอาวุธ เข้ารุมชกต่อยจำเลย
จำเลยใช้ปืนยิง  ในระยะติดพันกันนั้นรวม ๓-๔-๕ นัด  จน ก. ตาย
เป็นป้องกันจริง   แต่เกินกว่าเหตุ

ฎีกาที่ ๔๐๕ / ๒๔๙๐  จำเลยเฝ้าไร่พืชผัก   คนตายเข้าไปในไร่ เวลากลางวันเพื่อ
จะลักพืชผัก   จำเลยจึงใช้ปืนยิงคนตาย   เป็นป้องกันจริง    แต่เกินกว่าเหตุ

ฎีกาที่  ๑๓๔๓ / ๒๔๙๕  ยิงคนร้ายขณะกำลังวิ่งหนีและพาเอาห่อของที่ลักไปด้วย
โดยคนร้ายไม่ได้ทำอะไรแก่ตนเลย   เป็นป้องกัน  แต่เกินสมควรแก่เหตุมาก

    ฎีกาที่ ๒๙๔ /๒๕๐๐  ยิงคนร้ายที่จูงกระบือในเวลากลางคืน  ตรงนั้นมืดมาก
  โดยคนร้ายไม่ได้แสดงกริยาต่อสู้  เป็นป้องกันที่เกินสมควรกว่าเหตุ

ฎีกาที่  ๒๗๑๗ / ๒๕๒๘  คนตายเข้ามาลักลอบตัดข้าวโพดในไร่จำเลย
ในตอนกลางคืน  โดยคนร้ายเอามีดมาด้วย  แต่ขณะที่จำเลยมาเห็น  คนตายยืนถือมีด
ห่างประมาณ   ๒  วา ยังไม่อยู่ในลักษณะพร้อมที่จะฟันทำร้าย   จำเลยด่วนยิง
จึงเป็นการป้องกันที่เกินกว่าเหตุ
       เรื่องนี้เป็นปัญหาขอเท็จจริง ที่จะพิจารณาว่าเข้าข้อกฎหมาย  หรือไม่.
       ข้อเท็จจริง คือเรื่องราวเกี่ยวกับคดีที่เกิดขึ้น จะต้องเป็นผู้มีวิชาชีพกฎหมาย
       มีความรู้ทางกฎหมาย .. จึงจะมองแนวทาง ออกชัด . และให้ความเห็นเป็นแนวทางไว้.        
ข้อเท็จจริง ที่อาจเข้าข้อกฎหมายในเรื่องกระทำพอสมควรก่อเหตุ..
       ๑. การกระทำในลักษณะสวนกลับ ในทันทีนั้น
           พฤติการณ์ จึงอาจเลือกได้ ความว่องไวแม่นยำ กับ หลบหลีกเข้าที่กำบัง แล้วสวนกลับ
       ๒. ได้กระทำตอบในลักษณะความรุนแรง เดียวกับภัยที่ถูกกระทำ เพื่อยุติภัยนั้น.
            ไม่ซ้ำถ้าคนร้ายหมดความสามารถแล้ว
       ๓. ได้กระทำกับอีกฝ่าย ที่ประเมินแล้ว ว่า เป็นโจร เป็นคนร้าย.
            เพราะตามพฤติการณ์ คนดี จะหลีกเลี่ยงไม่กระทำละเมิด หรือประทุษร้ายบุคคลอื่นก่อน  
ฎีกาที่ .๓๘๖๙ / ๒๕๔๖  คนตายปีนเข้าบ้านจำเลยตอนกลางคืนโดยไม่ทราบสาเหตุ
ที่ปีนเข้ามา  เมื่อจำเลยตื่นมาเห็นย่อมทำให้สำคัญผิดว่าคนตายเป็นคนร้าย
และในขณะนั้นจำเลยย่อมไม่อาจรู้ได้ว่าคนตายจะมีอาวุธหรือไม่  เพราะในห้องที่เกิดเหตุ
มืดมาก  และเป็นเวลากระทันหัน  หากจำเลยจะรอให้คนร้ายแสดงกริยาแล้วก็อาจจะถูก
ทำร้ายได้     การที่จำเลยใช้ปืนยิงไปเพียง ๑ นัด   คนตายร้องและล้มลง
และจำเลยมิได้ยิงซ้ำแต่อย่างใด   จึงเป็นการป้องกันที่พอสมควรแก่เหตุ

        ส่วนพวกที่ชอบรุมกินโต๊ะ ( สุนัขหมู่ ) ก็ระวังให้ดี

ฎีกาที่  ๖๐๗๗/๒๕๔๖  ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนดึกมากแล้ว  จำเลยคนเดียว
เข้าไประงับเหตุไม่ให้กลุ่มคนตายเป็นชาย ๓ คน ดื่มสุราและร้องเพลงส่งเสียงดัง
ภายในเขตวัด   แล้วเกิดโต้เถียงกัน   จำเลยถูกชาย ๓ คนรุมทำร้ายอย่างต่อเนื่อง
โดยไม่มีโอกาสตอบโต้คืน  และไม่อาจรู้ได้ว้าพวก ๓ คนมีอาวุธใดมาด้วยหรือไม่
จำเลยชักปืนที่พกมาด้วยยิงไปเพียง ๑ นัด ถูกคนตาย   ถือว่าป้องกันพอสมควรแก่เหตุ
ไม่มีความผิด
ฎีกาที่ ๑๓๙๖ / ๒๕๑๔  ก.ใช้จอบตีทำร้ายจำเลยโดยจำเลยไม่ได้เป็นคนก่อเหตุก่อน
ถูกที่เหนือข้อศอกซึ่งยกขึ้นรับไว้ได้  จากนั้น ก.ยังใช้จอบฟันซ้ำอีก ๒ ที ถูกที่เหนือเข่า
จนจำเลยล้มลง    แล้วยังมีพวกของ ก. อีก ๒ คนถือขวานและมีดวิ่งเข้ามาด้วย
กริยาแสดงให้เห็นว่าจะมาช่วย ก. เล่นงานจำเลยให้อยู่  จำเลยจึงใช้ปืนลูกซองสั้น
ยิงไป ๑ นัดในทันทีนั้นเอง   เป็นการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ  ไม่มีความผิด




Credit :http://gunland.net/index.php/2009-12-08-05-16-54
_____________________

Pramuan Panitchawongs
SCCC

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Blogspot Templates by TNB